1. คิดบวกเข้าไว้
แม้สกาวรัตน์จะส่งเรซูเม่และไปสัมภาษณ์มาหลายบริษัท แต่ก็ยังไม่มีที่ไหนรับเข้าทำงานเสียที การคิดในเชิงบวกจะทำให้เกิดความเชื่อมั่นในตนเอง ตรงกันข้าม การท้อแท้ และคิดในแง่ลบจะทำลายความมั่นใจของเราเอง ซึ่งจะส่งผลต่อทุกการตัดสินใจและทุกการกระทำในอนาคต และอาจทำให้เราพลาดโอกาสการได้งานไปโดยปริยาย เช่น การมีทัศนคติในแง่ลบ หรือความไม่มั่นใจในตัวเอง จากการไม่ผ่านการสัมภาษณ์งานหลาย ๆ ครั้ง อาจจะทำให้สกาวรัตน์เริ่มตั้งคำถามกับตัวเองและโทษตัวเองว่าไม่มีความสามารถเพียงพอ ทั้งที่ความเป็นจริงการไม่ได้งานอาจมีปัจจัยอื่นเป็นสาเหตุ
นาน ๆ เข้า อาจทำให้เธอไม่กล้าลองสมัครงานในบางตำแหน่ง เพราะเธอถูกกรอบความคิดครอบงำอยู่ เช่น “ฉันสมัครตำแหน่งนี้ไม่ได้หรอก มันยากเกินไป” ทั้ง ๆ ที่สกาวรัตน์ยังไม่เคยลองสมัครดูเลย เราควรจะจำไว้ว่าเราไม่มีอะไรจะเสีย แม้จะไม่ได้งานในตำแหน่งนั้น แต่ก็ยังได้ฝึกฝนการตอบคำถามสัมภาษณ์งาน หรือผ่านการสัมภาษณ์งานในหลาย ๆ รูปแบบ และนี่จะหล่อหลอมเป็นประสบการณ์เราผ่านช่วงเวลาการว่างงานนี้ไปได้ แต่ถ้ามัวแต่จมอยู่กับความคิดในแง่ลบ อย่าอยู่คนเดียว ให้หากำลังใจจากคนอื่น เช่น ใช้เวลากับครอบครัว หรือเพื่อนสนิทที่สามารถให้คำปรึกษาในเชิงบวกได้
2. ใช้จ่ายอย่างประหยัด
ถ้าเราไม่มีรายได้ เพราะยังไม่มีงานทำ เราต้องเรียนรู้ที่จะใช้จ่ายอย่างประหยัด ให้เหมาะสมกับสภาพทางการเงินของตัวเอง ลองพิจารณาตัดรายจ่ายที่ฟุ่มเฟือยออกไปถ้าทำได้ เพื่อไม่ให้ติดนิสัยใช้เงินเกินพอดี โดยเฉพาะเด็กจบใหม่อย่างสกาวรัตน์ที่อาจยังต้องพึ่งพาผู้ปกครองอยู่ ช่วงเวลาที่ยังไม่มีงานทำนี้จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมอย่างยิ่งในการฝึกวินัยในการใช้เงิน เพื่อที่เวลาเธอได้งาน มีเงินเดือน จะสามารถใช้เงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3. ใช้เวลาพบปะผู้คนเพื่อสร้างเครือข่าย
การทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่หรือเก่าจากกลุ่มที่หลากหลายอาจช่วยให้เราได้งานทำ เช่น งานเลี้ยงรุ่นศิษย์เก่า หรือ Job Fair ที่จัดตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ โดยงานประเภทนี้จะมีการประชาสัมพันธ์ผ่านทางสื่อสิ่งพิมพ์ และสื่อออนไลน์ งานประชุม สัมมนาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสาขาอาชีพที่เราสนใจ ใครจะไปรู้ สกาวรัตน์อาจจะได้งานที่ตรงใจเธอ จากความสัมพันธ์ของคนที่เพิ่งรู้จักกันโดยบังเอิญก็เป็นได้
4. ศึกษาต่อ
การศึกษาต่อในระดับชั้นการศึกษาที่สูงขึ้นอาจะดูไม่ใช่คำแนะนำที่เกี่ยวกับการหางานที่ตรงสักเท่าไร อย่างไรก็ตาม ถ้าเรามีสาขาวิชาที่สนใจอยู่แล้ว การพิจารณาดูทางเลือกจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในช่วงที่ว่างงานอยู่ก็เป็นทางเลือกที่ไม่เลว แต่ถ้าการเรียนต่อไม่ใช่แนวทางที่ต้องการก็ไม่ต้องฝืน เพราะการเรียนต้องอาศัยความทุ่มเท พลังงานมหาศาล และเงินจำนวนไม่น้อย
5. หาอะไรทำให้ยุ่ง ๆ เข้าไว้
หากยังหางานทำไม่ได้เสียที อย่าปล่อยวันเวลาให้ผ่านเลยไปโดยเปล่าประโยชน์ ถึงไม่มีงานประจำ แต่ก็สามารถทำงานพาร์ทไทม์ได้ หรือไม่ก็ลงคอร์สฝึกอบรมในเรื่องที่สนใจ ประสบการณ์อื่น ๆ นอกเหนือไปจากประสบการณ์การทำงานก็อาจปูทางไปสู่อาชีพที่อยากทำในอนาคตได้เช่นกัน
6. ขยายขอบเขตการหางานให้กว้างขึ้น
สกาวรัตน์อาจหางานไม่ได้เพราะเลือกงาน ซึ่งอาจมาจากการจำกัดวงในการหาตำแหน่งงานที่แคบเกินไป เช่น สาขาอาชีพ หรือสถานที่ตั้งของบริษัท เช่น ถ้าหากไม่อยากทำงานไกลบ้าน ก็จะพลาดการได้งานในบริษัทที่อาจจะมีตำแหน่งงานที่ต้องการไป ครั้งต่อไปที่หางานลองขยายขอบเขตของการหางานให้กว้างขึ้นกว่าเดิมสักเล็กน้อย เช่น ลองดูบริษัทที่แม้จะอยู่ไกลจากที่พัก แต่มีการเดินทางที่สะดวก หรือ ดูตำแหน่งงานที่อาจจะไม่ตรงกับที่อยากจะทำงานโดยตรง แต่ประเมินคร่าว ๆ แล้วว่าเราสามารถทำได้
7. พัฒนาทักษะที่ขาด
ทุกครั้งที่ไม่ผ่านการสัมภาษณ์งาน ให้กลับมาทบทวนตัวเองว่าเรายังขาดทักษะในด้านใดบ้าง ทั้งนี้สกาวรัตน์อาจจะให้เพื่อน ๆ หรือ คนในครอบครัวช่วยสมมติว่าเป็นผู้สัมภาษณ์ เพื่อที่เธอจะได้ฝึกตอบคำถามให้คล่อง เพื่อสร้างความมั่นใจก่อนการสัมภาษณ์งานในครั้งต่อ ๆ ไป
8. เป็นอาสาสมัคร หรือหาประสบการณ์ด้วยการทำงานแบบไม่รับค่าจ้าง
ในธุรกิจบางสาขาจะมีการเปิดรับพนักงานอาสาสมัครเข้ามาฝึกงานกับบริษัทโดยไม่จ่ายค่าจ้าง ซึ่งถ้าสกาวรัตน์เลือกทำงานตำแหน่งนี้ สิ่งที่เธอจะได้แน่นอนว่าไม่ใช่เงิน แต่เป็นประสบการณ์ สรุปก็คือ ถ้าเรายังหางานที่จ่ายเงินเดือนให้เราไม่ได้ เราก็ยังจะสามารถหาประสบการณ์ในการทำงานได้อยู่ดี ไม่แน่ว่าถ้าเราทำงานได้ดี เราอาจจะได้รับการพิจารณาให้เป็นพนักงานประจำที่มีเงินเดือนก็ได้
นอกจากนี้การทำงานเป็นอาสาสมัครในองค์กรการกุศลก็ทำให้สกาวรัตน์ได้ประสบการณ์การทำงานร่วมกับผู้อื่น หรือได้พบปะผู้คนในสภาพแวดล้อมใหม่ ได้เรียนรู้การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า รวมถึงการเห็นมุมมองที่แตกต่างจากองค์กรที่ไม่แสวงผลกำไร เป็นการเปิดโลกพบเจอประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่มีคุณค่าไม่แพ้การทำงานประเภทอื่น ๆ
9. เริ่มต้นทำธุรกิจ
หากเราคิดว่าการเป็นพนักงานบริษัทที่ต้องทำตามคำสั่งของคนอื่นไม่ใช่สิ่งที่เราชอบ ก็กำหนดอนาคตของตัวเองด้วยการสร้างธุรกิจเองเสียเลย เริ่มต้นจากสิ่งที่ตัวเองมีความรู้ความชำนาญเป็นทุนเดิม ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม แล้วเริ่มลงมือเมื่อมีความพร้อม ไม่แน่ว่าเราอาจจะเป็นเจ้านายตัวเองได้ดีกว่าการเป็นพนักงานออฟฟิศก็เป็นได้
10. เขียนบล็อกหรือ ทำเว็บไซต์
หากเราเป็นคนที่มีแรงบันดาลใจในการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งและต้องการแบ่งปันเรื่องราวนั้น ๆ ให้คนอื่นได้รับรู้ ลองบอกเล่าเรื่องราวผ่านการเขียน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำอาหาร การเงิน กีฬาที่ชื่นชอบ หรืออัปเดตเทรนด์เทคโนโลยีใหม่ ๆ สนใจในเรื่องไหนก็เขียนในเรื่องนั้น การเขียนเรื่องราวในประเด็นที่ตัวเองสนใจนี้เองจะทำให้เราเกิดความมุ่งมั่นและความใส่ใจอย่างต่อเนื่อง หรือถ้าเราหลงรักการเขียนอย่างจริงจัง เราอาจสร้างรายได้จากสิ่งนี้ก็เป็นได้